วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัติพระพิฆเนศ History Load Ganesh

ประวัติพระพิฆเนศ

ประวัติพระพิฆเนศในประเทศไทย
จากหนังสือตรีเทวปกรณ์

           คติการนับถือพระพิฆเนศ น่าจะเข้ามาถึงประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 โดยเข้ามาทางภาคใต้ก่อน แต่เทวาลัยของพระพิฆเนศที่เก่าที่สุดในเมืองไทยปรากฏที่ แหล่งโบราณคดีเขาคา จ.นครศรีธรรมราช มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 12 เทวรูปพระพิฆเนศที่เก่าที่สุดก็พบทางภาคใต้ของไทย และกำหนดอายุได้ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าบรรพชนในภาคใต้ของเราในยุคดังกล่าว คงจะนับถึอพระพิฆเนศตามแบบอินเดีย คือเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค

            เทวรูปพระพิฆเนศ เริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อถึงสมัยที่เมืองไทยเรา ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากขอม เทวรูปเหล่านี้พบในปราสาทหินหลายแห่ง ทั้งที่เป็นเทวรูปลอยองค์สำหรับบูชาภายในปราสาท และอยู่บนทับหลังหรือหน้าบันในลักษณะภาพแกะสลักนูนสูง คติการนับถือพระพิฆเนศในเมืองไทยเราช่วงนี้ น่าจะเป็นแบบเขมร คือ เป็นเทพองค์สำคัญในไศวะนิกาย คือจะต้องมีประจำในเทวสถานของลัทธินี้ รวมทั้งการบูชาในฐานะเทพแห่งอุปสรรค และเทพแห่งการประพันธ์ด้วย เพราะเท่าที่พบเทวลักษณะก็เป็นแบบเขมร คือประทับนั่งชันพระชานุข้างหนึ่งแบบมหาราชลีลาสนะ หรือประทับนั่งขัดสมาธิราบ ถ้าประทับยืนก็ประทับยืนตรงๆ ไม่ใช่ยืนเอียงพระโสณีหรือตริภังค์แบบอินเดีย
                อย่างไรก็ตาม เทวรูปเหล่านี้ล้วนแต่สร้างอย่างงดงามมาก และอาจจะมีทั้งที่สร้างด้วยหินและสำริด หรือแม้แต่ทองคำ แต่ที่ตกทอดมาถึงยุคของเราส่วนมากมีแต่เป็นหินเท่านั้น ในจำนวนนี้องค์ที่เด่น ๆ ได้แก่พระคเณศทรงเครื่องจาก ปราสาทหินเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ส่วนพระพิฆเนศจากปราสาทที่งามที่สุด อย่างเช่นปราสาทหินพนมรุ้งนั้น ปัจจุบันเราได้พบแต่ที่เป็นขนาดเล็ก

            เทวลักษณะที่ประทับยืนตรงของพระพิฆเณศแบบขอม ได้ต่อเนื่องมาถึงพระพิฆเนศแบบเชียงแสน และสุโขทัยด้วย ปัจจุบันเรามีตัวอย่างของเทวรูปพระพิฆเนศแบบเชียงแสน ที่ทำอย่างงดงามหลายองค์ แต่ที่งามกว่าคือแบบสุโขทัย ซึ่งเท่าที่รู้จักกันเป็นสมบัติของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และมีการถ่ายแบบทำเป็นเทวรูปสำหรับบูชาทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 269 ซึ่งปัจจุบันก็หาดูยากแล้ว
ในสมัยสุโขทัย การนับถือพระพิฆเนศ ก็คงเป็นไปตามแบบทีได้อิทธิพลจากขอม แต่ก็น่าจะเสื่อมคลายลงมาก เพราะได้มีการให้ความสำคัญต่อศาสนาพุทธยิ่งกว่าศาสนาฮินดูที่นับถือกันมาแต่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาลิไท ที่ศาสนาพุทธเฟื่องฟูมาก

             ล่วงถึง สมัยกรุงศรีอยุธยา ศาสนาฮินดูได้กลับมามีความสำคัญในราชสำนักอีกครั้ง มีหลักฐานว่าได้มีการหล่อพระพิฆเนศ และ พระเทวกรรม คือพระพิฆเนศในฐานะที่เป็นครูช้างขึ้นมาหลายองค์ แต่หลักฐานที่ตกมาถึงเรามีแต่เทวรูปสำริดขนาดเล็กเพียงไม่กี่องค์ และเทวรูปสำริดขนาดใหญ่ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า รวมทั้งเทวรูปศิลาที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระราชวังจันทร์เกษม เป็นต้น พระพิฆเนศได้กลับมามีบทบาทสำคัญในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็เพราะเกี่ยวเนื่อง ด้วยการคชกรรมนี่เอง และก็ยังคงมีความสำคัญตามคติที่ได้รับจากขอม คือเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรค เป็นเทพที่จะต้องบูชาก่อนอื่นในพิธีกรรมสำคัญ และเป็นเทพแห่งการประพันธ์คัมภีร์ต่าง ๆ

             ส่วนคติที่นับถือพระพิฆเนศวรเป็น เทพแห่งศิลปวิทยา อันเป็นการแทนที่คติเดิมของพระสรัสวดีที่มีมาแต่อินเดียนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีในเมืองไทย จนกระทั่งผ่านพ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพราะใน 4 รัชกาลแรกภาพเขียนพระพิฆเนศในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม และ วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือแม้แต่ภาพแกะสลักบนประตูไม้ที่ วัดเพลงวิปัสสนา-บางกอกน้อย ยังเป็นเรื่องจากนารายณ์สิบปางอยู่ ภาพเหล่านี้คงมีที่มาจากตัวอย่างพระเทวรูปในตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์ ซึ่งเป็นแบบอย่างภาพลายเส้นรูปเทพเจ้าแทบทุกพระองค์ สำหรับช่างเขียนใช้เป็นต้นแบบ ตำราภาพดังกล่าวสร้างในรัชกาลที่ 3-4 และคงมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

             ที่เป็นหลักฐานทางเอกสาร โดยเฉพาะในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังเป็นคติเก่าที่มีอยู่ในเรื่องนารายณ์สิบปางเช่นกัน และองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนั้น โดยส่วนพระองค์ก็ดูจะทรงนับถือพระพิฆเนศอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อเสด็จประพาสชวาก็ทรงนำพระพิฆเนศขนาดใหญ่ของที่นั่นมาด้วย (ปัจจุบันยังจัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร)


พระคเณศ (สันสกฤตगणेशทมิฬபிள்ளையார்
ชาวไทยนิยมเรียกว่า พระพิฆเนศ (विघ्नेश) พระพิฆเณศวร พระพิฆเณศ หรือ พระคณปติ 

            พระพิฆเนศเป็นเทพในศาสนาฮินดู นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)

พระพิฆเนศกับสังคมไทย
            ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการบูชาเทพองค์ต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์อยู่มากมาย รวมทั้งองค์พระพิฆเณศ ซึ่งอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ดูได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเณศในเทวสถานตามเมืองต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทย โดยมีหลักฐานการค้นพบองค์เทวรูปบูชาพระพิฆเณศที่เก่าแก่ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้นว่าองค์เทวรูปบูชานั้นสลักจากหิน ค้นพบทางแถบจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ

             คนไทยถือว่าองค์พระพิฆเนศวรเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ โดยคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรให้เป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ได้สถาปนาพระพิฆเนศวร เป็นเทพพระองค์แรกที่ต้องบูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป กิจการทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี หน่วยงานราชการกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรจึงได้ถือเอาพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์

            พระพิฆเนศวรเป็นโอรสของพระศิวะและพระแม่ปารวตี มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง ทุกคนเคารพนับถือท่านในฐานะที่ท่านเป็น "วิฆเนศ" นั่นคือ เจ้า (อิศ) แห่งอุปสรรค (วิฆณ) เพราะเจ้าแห่งอุปสรรค ที่สามารถปลดปล่อยอุปสรรคได้ และอีกความหมายถึง ท่านเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จในทุกศาสตร์สรรพสิ่งหรือเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นใหม่ทั้งปวง เมื่อพิจารณาความหมายในทางสัญญะ รูปกายที่อ้วนพีนั้นมีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์ เศียรที่เป็นช้างมีความหมาย หมายถึงผู้มีปัญญามาก ตาที่เล็กคือ สามารถมอง แยกแยะสิ่งถูกผิด หูและจมูกที่ใหญ่หมายถึง มีสัมผัสพิจารณา ที่ดีเลิศ พระพิฆเนศวรมี หนู เป็นสหาย (บางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพาหนะ) ซึ่งอาจเปรียบได้กับความคิด ที่พุ่งพล่าน รวดเร็ว ดังนั้น มนุษย์จึงต้องมีปัญญากำกับเป็นดั่งเจ้านายในใจตน




ปกรณัม
                 ในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตีเนื่องจากอยู่องค์เดียวเลยเกิดความเหงาและ ประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอก ที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวายในพระตำหนักในจึงทรงปั้นและเสกเด็กขึ้นมา เพื่อเป็นพระโอรสที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวะเทพเสด็จออกไปตามพระกิจต่างๆ มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้น องค์ศิวะเทพได้กลับมาและเมื่อจะเข้าไปด้านในก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใครและในลักษณะเดียวกันศิวะเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่ม นั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา
                เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธและตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้ พลางถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใคร เพราะตนกำลังทำตามบัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตกในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้นก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจ และศีรษะก็ถูกตัดหายไป
              ในขณะนั้นเองพระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาลก็ เสด็จออกมาด้านนอกและถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรสที่ปราศจากศีรษะ และเมื่อได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง
              เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้น องค์มหาเทพก็ตรัสว่าจะทำให้เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่งกระวนกระวายใจ เนื่องจากหากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นพระศิวะเลยโยนตรีศูลอาวุธของพระองค์ออกไปหาศีรษะสิ่งที่มีชีวิตแรกที่พบมา และปรากฏว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมาซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อให้และชุบชีวิตให้ใหม่ พร้อมยกย่องให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานนามว่า "พระพิฆเนศวร" ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรคและยังทรงให้พรว่าในการประกอบ พิธีการต่างๆ ทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวรก่อนเพื่อความสำเร็จของพิธีนั้น



ลักษณะของพระพิฆเนศวร

               มีรูปกายเป็นมนุษย์เพศชายอ้วน ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือ ตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) หนู นับเป็นสหายของพระพิฆเนศวร ไม่ใช่เป็นพาหนะ

             เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆนั้น ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้
1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล
5. พระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง
6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก
7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์มหาภารตะให้ฤๅษีวยาสและเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสียสละ
8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
9. ขนมโมทกะหรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความหวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่น ๆ
10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา
11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ
12. หนูที่พระองค์นับเป็นสหายนั้น แสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

เทศกาลคเณศจตุรถี
                  



การอุ้มเทวรูปพระพิฆเนศลงน้ำที่เมืองมุมไบ ในเทศกาลคเณศจตุรถี
               
            เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุดแก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพันองค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล
         เทศกาลคเณศจตุรถีและพิธีกรรมต่างๆ กระทำกันมาแต่โบราณ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมที่กระทำกันก็คือ "เอกวีสติ ปัตรบูชา" หรือการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิดเป็นเวลา 21 วัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/พระพิฆเนศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น